‘ดอกเบี้ยหมีขาว’ ขึ้นพรวด10% พยุงค่าเงินรูเบิล
- admin
- 0
ตลาดเงินประเมิน วิกฤติ “รัสเซีย-ยูเครน” กระทบ ตลาดเงินในวงจำกัด รวมถึงไม่กระทบเชิงเศรษฐกิจ เหตุสัดส่วนการค้ารัสเซียน้อย ภาคท่องเที่ยวยังเจอโควิด-19 กดดัน แนะติดตามการตอบโต้ระยะต่อไป จะยืดเยื้อหรือไม่
การประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรวดเดียวเท่าตัวที่ 10.50% ของธนาคารกลางรัสเซียหรือ CBR เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อสกัดการร่วงลงอย่างหนักของค่าเงินรูเบิล หลังธนาคารสัญชาติรัสเซียถูกตัดออกจากระบบ SWIFT ซึ่งเป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นโดยธนาคารในสหรัฐและยุโรป เพื่อตอบโต้รัสเซียจากการบุกโจมตียูเครน เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในตลาดการเงินโลก
การขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของรัสเซียอยู่ที่ระดับ 20% ขณะที่ธนาคารกลางที่มีดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูงอย่าง บราซิล 10.75% อาร์เจนตินา 40% เวเนซุเอลา 52.7% ตุรกี 14% และเบลารุส 12% นั้นเป็นการทยอยปรับขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ไม่ได้เพิ่มขึ้นครั้งเดียวเหมือนที่เกิดขึ้นกับรัสเซีย
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ หรือ BBL เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากค่าเงินรูเบิลอ่อนค่า ลงไปที่ 110 รูเบิลต่อดอลลาร์จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 75.15 รูเบิลต่อดอลลาร์ อาจจะกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีก จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 8.7%
ส่วนผลกระทบต่อตลาดการเงิน กรณีที่กองทุนไปลงทุนหุ้น หรือพันธบัตรรัสเซีย หรือทำการค้ากับคนรัสเซียจะจ่ายเงินไม่ได้ รวมถึงต้นทุนที่เกิดจากราคาข้าวโพด ข้าวสาลีอาหารสัตว์แพงขึ้น แต่ไม่น่าจะเกิดผลกระทบเศรษฐกิจรวม เพราะจะกระทบบางเซ็กเตอร์เท่านั้น
กรณีรัสเซีย-ยูเครนในเชิงการค้าแล้วกระทบไทยจำกัด เนื่องจากรัสเซียมีสัดส่วนการค้ากับไทยเพียง 2.5% ซึ่งสามารถเปลี่ยนตลาดได้ ส่วนนักท่องเที่ยวรัสเซีย เนื่องจากช่วงโควิด-19 ทำให้เดือนธันวาคมเข้ามาน้อยเพียง 1.5 หมื่นคนจากปกติมามากถึง 1.5 ล้านคน
ส่วนแนวโน้มขึ้นอยู่กับสงครามจำกัดในยูเครนเท่านั้น ต้องไม่แทรกแซงน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่ง 10 วันที่ผ่านมายังจำกัดอยู่เป็นการแทรกแซงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น แต่ระยะยาวทั้งรัสเซียและยุโรปอาจทำอะไรที่ไม่คาดคิด แต่ตลาดรับข่าวไปมากแล้ว อีกทั้งการตัดสินใจยังตอบโต้แบบระมัดระวังในวงจำกัด
ขณะที่ นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า การขึ้นดอกเบี้ยของรัสเซีย 10.5% ไม่เคยแรงระดับนี้ แต่ก็ยังมีประเทศอื่นที่เจอปัญหา Hyper Inflation ที่ดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่านั้น เช่น อาร์เจนตินา 40% เวเนซุเอลา 58.35% ตุรกี 14%
รัสเซียเลือกทำนโยบายนี้ จากนโยบายทางการเมืองและควบคุมการนำเงินออกหรือห้ามต่างชาติขายหลักทรัพย์ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า หลักทรัพย์ประเภทใด ซึ่งยังต้องดูนิยามว่า หลักทรัพย์ที่รัสเซียประกาศคือ ประเภทไหนบวกกับมาตรการที่รัสเซียถูกแทรกแซงและตัดออกจากระบบ SWIFT ผลกระทบคู่ค้าที่นำเข้า-ส่งออกกับรัสเซีย ต้องรีบเก็บเงินก่อนโดยไม่สามารถเก็บเงินทีหลังแบบเดิม
“การตัดรัสเซียจากระบบ SWIFT ทำให้รัสเซียลำบากโอนเงินออกมาไม่ได้ แต่ก่อนหน้ารัสเซียตุนสภาพคล่องไว้มาก เชื่อว่า รัสเซียไม่หนีการชำระหนี้ เพราะทุนสำรองมีมาก ส่วนภาคเอกชน ธนาคารหรือเจ้าหนี้ของรัสเซียจะกระทบอย่างไร ซึ่งอาจกระทบนโยบายรวม”นายนริศกล่าว
อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เฟดยังไม่รีบถอนสภาพคล่องดอลลาร์ออกจากรัสเซีย เพราะจะกระทบนโยบายการเงินของสหรัฐและยุโรปที่ได้รับผลกระทบการเงินและพลังงาน เพราะใช้ก๊าซจากรัสเซีย ซึ่งราคาน้ำมันจะพุ่ง เพราะรัสเซียส่งออกอันดับ 3 หรือสัดส่วน 10.5% ของโลก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าแทรกแซง ราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น จะเร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมัน หากย้อนกลับไปช่วงพีคเกือบแตะ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดังนั้นโอกาสจะไปที่ 120 ดอลลาร์มีความเป็นไปได้ ในแง่เงินเฟ้อเกือบ 4% ซึ่งอาจจะกระทบเงินเฟ้อของไทย แต่จากปัญหาซัพพลายช็อก หากเงินเฟ้อพื้นฐานไม่ปรับขึ้น การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ช่วยไม่ได้
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า รัสเซียประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียวสูงขึ้นเท่าตัว และออกมาตรการจำกัดรับคำสั่งขายสินทรัพย์สกุลเงินรัสเซียของนักลงทุนต่างชาติ, รวมถึงการจำกัดช่องทางกู้เงินและโอนเงินออกนอกประเทศ สำหรับคนรัสเซียเอง
ขณะที่ธนาคารกลางสั่งให้บริษัทนำเข้า-ส่งออกขายดอลลาร์แทน (หลังจากธนาคารกลางรัสเซียถูกบล็อก) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทนำเข้าและส่งออกที่อยู่ในภาคพลังงาน สะท้อนการซื้อเวลาของรัสเซีย แนวโน้มอาจเห็นเงินรูเบิลอ่อนค่าในช่วงที่เหลือ จากปัจจุบันอยู่ที่ 104 รูเบิลต่อดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่ากว่า 28% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 75.17 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ
“ธนาคารกลางรัสเซียและธนาคารกลางตุรกีเผชิญความไม่เชื่อมั่นสกุลเงิน, อัตราเงินเฟ้อสูงและเงินทุนไหลออก โดยรัสเซียมาจากปัญหาทางการเมือง แต่ธนาคารกลางรัสเซียปรับขึ้นดอกเบี้ยพรวดเดียวเท่าตัว เพื่อประคอง Sentiment แต่ธนาคารกลางตุรกีปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อประคองเศรษฐกิจ”
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,762 วันที่ 3 – 5 มีนาคม พ.ศ. 2565
อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market