“ศุภวุฒิ” เตือนไทยรับมือ “เงินเฟ้อยืดเยื้อ” ราคาปุ๋ยแพงกว่าน้ำมัน
- admin
- 0
“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน ชี้ เศรษฐกิจไทยเผชิญ 3 ปัจจัยท้าทาย “เงินเฟ้อยืดเยื้อ-ราคาพลังงานพุ่ง-สังคมสูงวัย” จับตาราคาปุ๋ยสูงกว่าราคาน้ำมัน กระทบผลผลิตปลายปี ดันเงินเฟ้อเพิ่ม เชื่อสหรัฐฯ-ไทยเลี้ยงเงินเฟ้อ ไม่กล้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย เหตุกลัวทำเศรษฐกิจตกต่ำ หลังรัฐกู้เงินมหาศาล แนะไทยเร่งวางยุทธศาสตร์รับมือพลังงานเพิ่ม ผันตัวจากเศรษฐกิจการผลิตอุตสาหกรรมสู่ภาคการบริการ
วันที่ 2 เมษายน 2565 ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงาน “THIS IS The END of the LINE สถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทยสร้างใหม่อย่างไรดี” ในหัวข้อ “BRACING FOR THE FUTURE II: GEOPOLITICS & OUR POLITICS” ว่า ปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจโลกและไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 ปัจจัย คือ 1.พลังงานแพง ซึ่งก่อนจะมีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนราคาพลังงานปรับสูงขึ้นอยู่แล้วจาก 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 89 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
โดยภายหลังจากรัสเซียบุกยูเครน จะเห็นว่ากลุ่มประเทศยุโรปประกาศแผน “Repower EU” เป็นการแย่งซื้อพลังงานกับเรา ประกอบกับมีปัจจัยการลงทุนน้อย (Under Investment) อยู่แล้ว เนื่องจากในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Cop26) ได้บอกประเทศที่มีอุตสาหกรรมเผาพลังงานจนเกิดคาร์บอนฯ จะต้องลดทอนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายใน 8 ปีข้างหน้า ทำให้บริษัทต่างๆ ไม่กล้าลงทุน เพราะในงานวิจัยได้บอกว่าหากจะปรับเปลี่ยนจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนราว 100 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นจีดีพีโลกประมาณ 1 ปี ส่งผลให้ไม่มีใครกล้าลงทุน ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น
2.ปัญหาอุปทานชะงักงัน (Supply disruption) ภายหลังจากประเทศสหรัฐฯ และจีนทะเลาะกันไม่เฉพาะแค่ด้านการค้า แต่รวมถึงด้านเศรษฐกิจ ทำให้เลิกพึ่งพาซัพพลายเชนของโลก (Global Supplychain) และพยายามแบ่งแยกซัพพลายออกจากกัน โดยที่จีนเหมือนเข้าข้างรัสเซีย จะทำให้เกิดปัญหา Supply Disruption แน่นอน ซึ่งจะเป็นปัญหาระยะยาว และทำให้ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน
และ 3.ประชากรของโลกกำลังเริ่มแก่ตัวถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็นจีนหรือสหรัฐฯ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษได้วิจัยและประมาณการว่าในปี 2564 กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะเจอปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น 5-7% เนื่องจากหากย้อนไปดูในค.ศ. 1990-2018 พบว่าแรงงานในโลกทุนนิยมปรับเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว ซึ่งจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานทั่วโลก (Global Label Shortage) ส่งผลให้แรงงานขอขึ้นค่าแรง ในขณะที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น
“สิ่งท้าทายของไทย คือ เราอยากได้จีดีพีโต และความเหลื่อมล้ำลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พูดถึง แต่เราต้องถามตัวเองก่อน คือ ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเปิดการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโกลบอลซัพพลายเชน ประโยชน์ที่พึงได้รับคืออะไร ซึ่งมีอยู่ 5 ประเด็นหลัก คือ เราจะหาพลังงานใช้เพียงพอได้ยากขึ้น และเรากำลังเข้าสู่ Aging เราจะต้องปรับตัวจากผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมมาเป็นด้านบริการสุขภาพ และเราจะเลือกระหว่างจีนที่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นทุนนิยมรัฐบาลมีการกะเกณฑ์และชี้นำ หรือจะเป็นแบบสหรัฐฯ เราจะต้องดูใคร”
ทั้งนี้ หากดูภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวในส่วนของเศรษฐกิจประเทศไทยจะต้องเจอในระยะข้างหน้ามีด้วยกัน 3 ข้อ คือ 1.เงินเฟ้อยืดเยื้ออย่างมาก โดยในสหรัฐฯ ไม่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หรือรัฐบาลกลางไม่กล้าปราบเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงมาก เพราะจะทำให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ และยิ่งจะเกิดวิกฤตหากมีการขึ้นดอกเบี้ยมากไป ซึ่งจากก่อนหน้านี้ปรับขึ้นไปแล้ว 0.25-0.50% เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่เกิดเหตุการณ์โควิด-19 รัฐบาลได้กู้เงินจำนวนมหาศาลในการทำมาตรการต่างๆ หากขึ้นดอกเบี้ยและเศรษฐกิจตกต่ำจะไม่มีเครื่องมือให้ใช้แล้ว
เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ภาครัฐมีการกู้เงินจำนวนมากในก่อนหน้านี้ จึงไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ เหมือนสหรัฐฯ ที่ลึกๆ ไม่กล้าปราบเงินเฟ้อ แต่จะเลี้ยงเงินเฟ้อไว้ ดังนั้น ไทยจะเจอเงินเฟ้อที่สูง แต่หลายคนให้ไปดูที่ราคาน้ำมัน แต่หากจะดูเงินเฟ้อกว่าที่คาดคิดไว้ให้ดูได้จากราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งค่อนข้างน่ากลัวว่าราคาปุ๋ยจะสูงกว่าราคาน้ำมัน โดยจะทำให้ชาวนาลดการใช้ปุ๋ยลงราว 30% เพราะไม่กล้าเพาะปลูกจากราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น ทำให้ผลผลิตจะยิ่งตกต่ำโดยในฤดูกาลปลายปี และจะส่งต่อเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจากราคาอาหาร โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลงได้ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออก ประกอบกับใกล้เลือกตั้งซึ่งทุกพรรคการเมืองจะมีเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงเข้ามาอีกด้วย
ขณะที่ 2.พลังงาน โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานและก๊าซธรรมชาติ LNG ที่จะแพงขึ้น โดยมีงานวิจัยพบว่าโลกจะมีการพึ่งพาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 36.4% มาเป็น 45% ภายใน 20-30 ปี ซึ่งไทยยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์ทางด้านพลังงานเลย ซึ่งหากดูวิธีแก้ราคาพลังงานแพง คือ การใช้พลังงานนิวเคลียร์ หรือการเข้าใช้พลังงานในพื้นที่ชายแดนทับซ้อนกับกัมพูชากับสหรัฐฯ หรือไม่
และท้ายสุด 3.สังคมสูงวัย (Aging Society) ในอดีตเราจะเป็น “ดีทรอยต์ออฟเอเชีย” ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ ซึ่งไทยจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แต่ต้องถามว่าไทยเข้าสู่ภาวะ Aging Society เจอปัญหาขาดแคลนทางด้านแรงงานและเจอปัญหาพลังงาน โดยเราจะเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการผลิต (Manufactured Economy) หรือจะผันตัวเป็น Service Sector โดยภาคเกษตรใช้ออแกนิคแทนเกษตรแบบเก่า หรือจะแปลงประเทศเป็น Good Food, Good Health, Wellness Hub หรือจะสร้างเซมิคอนดักต์เตอร์ในช่วงที่มีปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน แต่จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์ต่อโรง
“จากปัญหาทั้งหมดภายใต้ปัจจัยที่เราต้องเผชิญตามที่กล่าวมา รัฐบาลข้างหน้าจะต้องตอบโจทย์ทางด้านพลังงานและโครงสร้างเศรษฐกิจ ผมไม่ได้สนใจเรื่องอีวี แม้ว่าจะพูดเป็นคนแรกๆ เพราะมองว่าไม่ได้มี Trickle-Down Effect เพราะไม่มีเรื่องของการซัพพอร์ตอินดัสเทรียล ดังนั้น พรรคการเมืองที่เป็นระบบทุนนิยมและประชาธิปไตย จะต้องระดมความคิดว่าจะขับเคลื่อนประเทศไทยไปได้อย่างไรในภายใต้ปัจจัยที่กล่าวมา”
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance