• March 29, 2024

ก.ล.ต.ผุดเกณฑ์คุม Utility Token พร้อมใช้ สั่งยื่นไฟลิ่งก่อนเทรด-คุ้มครองผู้ลงทุน

ก.ล.ต.หารือผู้ประกอบการ ออกเกณฑ์คุม Utility Token พร้อมใช้ที่เข้าเทรดในศูนย์ซื้อขาย หวังคุ้มครองผู้ลงทุนให้มีข้อมูลเพียงพอ พร้อมผุดเกณฑ์ยื่นไฟลิ่งแบบ “ฟาสต์แทรค” ช่วยลดต้นทุน เตรียมเปิดเฮียริ่งเกณฑ์ภายใน เม.ย.65

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสายระดมทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อออกเกณฑ์กำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ในลักษณะพร้อมใช้ (Utility Token พร้อมใช้) ที่จะนำเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange)

สำหรับการออกเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุนที่จะเข้าไปซื้อขายให้มีข้อมูลเพียงพอ ครบถ้วน และถูกต้อง โดยผู้ออกที่ต้องการนำ Utility Token พร้อมใช้ไปจดทะเบียนซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องยื่นแบบคำขอเพื่อเปิดเผยข้อมูลในการออกเหรียญ เพื่อให้ ก.ล.ต.สามารถเข้าไปดูแล รวมถึงลงโทษหากมีการกระทำผิด ภายหลังเข้าไปซื้อขายใน Exchange

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ออกและเสนอขายโทเคนในเรื่องของการประหยัดต้นทุนการยื่นคำขออนุญาตนั้น ก.ล.ต.จะออกเกณฑ์การยื่นคำขอเป็น 2 แบบ ได้แก่ 1. แบบคำขอแบบง่าย (Fast Track) ซึ่งค่าธรรมเนียมการยื่นขอจะไม่สูง และมีความรวดเร็วในการออก และ 2. แบบคำขอแบบปกติ (Normal Track) ซึ่งจะมีการกำหนดค่าธรรมเนียมตามต้นทุนกำกับดูแลของ ก.ล.ต.

โดยแบบคำขอแบบง่ายนั้น ผู้ออกเหรียญจะต้องออกเหรียญเพื่อแลกสินค้าสำหรับการบริโภคและอุปโภค หรือเหรียญที่มีลักษณะคล้ายบัตรกำนัล (เวาเชอร์) ที่มีสินค้ามารองรับ มีจำนวนการออกที่เหมาะสม มีวันครบกำหนดที่ชัดเจน และเมื่อนำเหรียญมาแลกแล้วเหรียญนั้นต้องหมดไป ฯลฯ แต่หากมีการออกเหรียญที่ซับซ้อนกว่านั้น จะต้องยื่นแบบคำขอปกติซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่า

ทั้งนี้ ภายหลังหารือกับผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดเฮียริ่งในช่วงเดือน เม.ย. ก่อนจะนำผลที่ได้จากการเปิดรับฟังความเห็นทำเป็นข้อเสนอเพื่อให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต.พิจารณาเพื่อออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลต่อไป

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต.และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างหารือเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ของ Utility Token ที่จะนำไปใช้จ่ายให้ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าเหรียญที่ผู้ออกและเสนอขายจะออกนั้นไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของ ธปท.ที่ไม่สนับสนุนให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในวงกว้าง เพื่อป้องกันความเสี่ยงผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน โดยคาดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะออกมาพร้อมกับหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต.

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business