• March 29, 2024

10 มาตรการเยียวยารอบใหม่ล่าสุด 28 ล้านคน ใครได้รับอะไรบ้าง

ประชาชน 1 ใน 3 ของประเทศ ได้รับการเยียวยาผลกระทบจากสงคราม ใน 10 มาตรการล่าสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชน เร่งด่วนจากสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

เพิ่มเติมจากที่รัฐได้ออกมาตรการไปแล้ว และยังใช้อยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม ระยะเวลา 3 เดือน รวม 10 มาตรการ

เช็ก 10 มาตรการรัฐเยียวยา
การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาท/เดือน
ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 5,500 คน
ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม
คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม
ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า FT ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม จำนวน 20 ล้านหลังคาเรือน
ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งนึง
กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป
ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป
ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42 – 180 บาทต่อเดือน
27.9 ล้านคน มีใครบ้าง
สำหรับมาตรการเยียวยาประชาชนดังกล่าว จะมีผู้ได้รับสิทธิทั้งหมด 27,928,012 ราย หรือเกือบ 28 ล้านราย คิดเป็น 1 ใน 3 จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 70 ล้านคน ประกอบด้วย

ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3,600,000 คน
ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5,500 คน
จักรยานยนต์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน
ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวน 10,569,831 คน
ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 11,190,109 คน
ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 1,925,572 คน
ผู้ประกอบการนายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม 480,000 คน
ทั้งนี้ ยังจะมีประชาชนอีกจำนวน 20 ล้านหลังคาเรือน ที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย ได้รับส่วนลดค่า FT
เป็นเวลา 4 เดือน

ระยะเวลาเยียวยา
เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565
รวม 3 เดือน
ใช้งบประมาณ 7 หมื่นล้าน
การเยียวยาครั้งนี้ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ใช้เงินมาอุดหนุน ทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านบาท จาก 3 รายการ

งบกลางปี 2565 รายการฉุกเฉินเร่งด่วน
วงเงินจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
เงินกู้จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 4 หมื่นล้านบาท เป็นไม่กำหนดเพดานการกู้เงินสำหรับกองทุนน้ำมันฯ โดยความสามารถของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถที่จะกู้เงินได้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
เปิดทำเนียบแถลงใหญ่ พรุ่งนี้
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความลำบากของประชาชนที่เกิดขึ้น จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน จากความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าและบริการต่าง ๆ ทำให้ค่าครองชีพมีการปรับตัวสูงขึ้น

จึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเร่งด่วนบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมัน เพิ่มเติมจากนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ออกไปแล้วและยังใช้อยู่ โดยมีประชาชนที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการชุดนี้จะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากครัวเรือนได้จริง โดยเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะยังสามารถขยายตัวอย่างน้อยได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 และพรุ่งนี้ ( 24 มี.ค.) เวลา 13.30 น. นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หัวหน้าหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ร่วมแถลงรายละเอียดมาตรการที่ทำเนียบรัฐบาล

“ท่านนายกฯ ย้ำให้ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานทำงานอย่างหนัก ในการช่วยเหลือแบ่งเบา ภาระค่าครองชีพ แก้ปัญหาหนี้สินภาคประชาชนให้ได้มากที่สุด ด้วยมาตรการและแผนฟื้นฟูประเทศที่ได้วางไว้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรียืนยันมาตลอดว่า ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ และยังจะเร่งเดินหน้า ‘พลิกโฉมประเทศไทย’ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ใหม่ ๆ ให้คนไทยต่อไป” นายธนกร กล่าว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance