• April 25, 2024

CKP กำไรปี 64 แตะ 2.1 พันล้าน พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

“ซีเค พาวเวอร์” สร้างสถิติใหม่กำไรปี 64 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ กางแผนปี 65 ตั้งงบลงทุน 2.6 พันล้าน มุ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีระดับคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ ต่ำที่สุดรายหนึ่ง ชูเป้ากำลังการผลิต 4.8พันเมกะวัตต์ในปี 67

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัท สามารถทำรายได้รวมและสร้างกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีรายได้รวม 9,334.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 2,157.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30.1% และ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,179.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 1,774.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น438.4%

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้รายได้ในปี 2564 เพิ่มขึ้นมาจากรายได้จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และ โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 98.9 และ ร้อยละ 5.4 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีรายได้ค่าบริหารโครงการที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.1 สาเหตุหลักมาจากการเริ่มรับรู้รายได้ค่าบริหารโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ ใน สปป.ลาว ตั้งแต่ในไตรมาสที่ 4/2563

ส่วนกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 มีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของรายได้จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนที่ส่วนใหญ่มาจากกำไรสุทธิของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 20.0% นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายทางการเงินของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ในปี 2564 ก็ลดลงจากการทยอยชำระคืนเงินต้นและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 และนอกจากนี้บริษัทยังเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี จาก 37.5% เป็น 42.5% ทำให้การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ บริษัท ในปี 2564 ถือเป็นสถิติใหม่ทั้งในด้านรายได้รวมและกำไรสุทธิ โดยปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง และการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผลการดำเนินงานในปี 2564 เติบโตขึ้นได้ดีกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ พิสูจน์ให้เห็นว่าแนวทางการบริหารงานของบริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนแล้ว บริษัท ยังมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และมีระดับคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ต่ำที่สุดรายหนึ่ง เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยที่ต้องการมุ่งสู่สังคมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2608

ส่วนในปี 2565 บริษัท วางแผนลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งงบลงทุนสำหรับปี 2565 จำนวน 2,600 ล้านบาท เพื่อเพิ่มทุนตามสัดส่วนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ใน สปป.ลาว และลงทุนเพิ่มเติมในโครงการอื่น ๆ ซึ่งกำลังการผลิตติดตั้งใหม่ทั้งหมดที่บริษัทลงทุนจะมาจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งของบริษัทที่ 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567 และเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนให้ไม่ต่ำกว่า 95% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัท

นอกจากนี้ ในปี 2565 บริษัทมีแผนขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศไทย และ สปป.ลาว ด้วยหลักการ “ร่วมคิด ร่วมลงมือทำ ร่วมพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและสังคม” ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมที่สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานกับชุมชน โดยมีกิจกรรมในประเทศไทย เช่น การวางแผนพัฒนาพื้นที่วัดนาห้วย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ด้วยการปรับปรุงระบบระบายน้ำ วางแผนติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคา เพื่อส่งต่อแนวทางการพัฒนาด้วยรูปแบบความพอเพียงและยั่งยืน

ส่วนกิจกรรมเพื่อสังคมใน สปป.ลาว ได้แก่ โครงการพัฒนาโรงเรียนอนุบาลหินหัวเสือ แขวงไซสมบูน สปป.ลาว เพื่อพัฒนาการศึกษาโดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ด้วยการสร้างและปรับปรุงอาคารเรียน ระบบไฟฟ้า ห้องน้ำ สนามเด็กเล่น และพื้นที่ต่าง ๆ ในโรงเรียน พร้อมการสนับสนุนการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดด้วยการติดเครื่องกรองน้ำจากพลังแสงอาทิตย์ และโครงการผลิตปุ๋ยจากขยะมูลฝอยที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี โดยนำขยะประเภทเศษอาหาร มาทำเป็นปุ๋ยหมักสำหรับทดลองใช้เพาะปลูกพืช และจะนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าต่อไป

บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “CKP” เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอยู่ในดัชนี SET 100 ตลอดจนได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงอยู่ในดัชนี SETCLMV ซึ่งเป็นดัชนีที่รวบรวมบริษัทจดทะเบียนของไทย ที่มีการทำธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV และได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรที่อันดับ “A” แนวโน้ม “คงที่” จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business