Krungthai COMPASS จับตาสถานการณ์ยูเครนกระทบจีดีพี มองธุรกิจ Corporate training มาแรง
- admin
- 0
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ Krungthai COMPASS ยังประมาณการจีดีพีไว้ที่ระดับ 3.8% ในสมมติฐานที่สถานการณ์ความขัดแย้งจบภายใน 1 เดือน ซึ่งผลกระทบหลักต่อประเทศไทยจะเป็นกรณีต้นทุนราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถส่งถ่ายต้นทุนที่สูงขึ้นไปสู่ราคาสินค้าได้ หรือผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนต้นทุนพลังงานที่สูงได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มที่มีสัดส่วนต้นทุนพลังงานต่ำ
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ความขัดแย้งเกินกว่า 1 เดือน หรือกินระยะเวลาถึง 3 เดือน จะส่งผลกระทบต่อจีดีพีให้โตได้ใกล้เคียงหรือประมาณ 3% และหากสถานการณ์ยืดเยื้อไปถึง 6 เดือน คาดการณ์จีดีพีไทยจะเติบโตต่ำกว่า 3% ซึ่งขณะนี้ Krungthai COMPASS อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสถานการณ์ปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปีนี้คาดการณ์ว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 3% จากผลกระทบด้านราคาพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นระดับอัตราเงินเฟ้อที่สูงสำหรับประเทศไทยที่ระดับปกติจะไม่ถึง 1% และหากสถานการณ์ยืดเยื้ออัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 จะอยู่ในระดับกว่า 3% เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงระหว่างยูเครนและรัสเซีย แต่ Krungthai Compass ยังมองว่ายังมีธุรกิจที่สามารถเดินหน้าได้ดีอยู่ โดยศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินธุรกิจฝึกอบรม (Corporate training) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากแรงกดดันจากปัญหาด้านทักษะแรงงานและสังคมสูงอายุ ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับศักยภาพแรงงานเร่งด่วน โดยเฉพาะในภาวะที่องค์กรธุรกิจเผชิญปัจจัยท้าทายจากเมกะเทรนด์โลก ธุรกิจฝึกอบรมจึงนับเป็นตัวช่วยที่สำคัญ แต่ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนาทักษะของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นขององค์กร ตลอดจนช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้แรงงานของไทยมีความเข้มแข็ง สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงพลิกผันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ช่องว่างด้านบุคลากรของไทยเป็นปัญหาทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ กล่าวคือ ไทยยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็นต่อโลกอนาคตหลายด้าน เช่น ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ด้าน Data Analytic ด้านการสื่อสารภาษาต่างประเทศ เป็นต้น อีกทั้งประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นของไทย ทำให้สัดส่วนกำลังแรงงานลดลง ยิ่งกดดันให้ต้องการ productivity จากแรงงานสูงขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้หล่อเลี้ยงประชากรที่มีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ซึ่งมองว่าธุรกิจฝึกอบรมพัฒนาทักษะบุคลากร หรือ Corporate training จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยติดอาวุธทางปัญญาและแก้ปัญหานี้ได้ โดยปัจจุบันธุรกิจนี้มีผู้ประกอบการอยู่ประมาณ 5,100 ราย มูลค่าตลาดประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่มีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก คาดว่าจะแตะระดับ 60,800 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ.2570 หรือเติบโตเฉลี่ยถึง 26.4% ต่อปี (CAGR 2562-2570)
“เมกะเทรนด์ที่สำคัญของโลกหลายด้านจะสร้างโอกาสให้ธุรกิจฝึกอบรมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาบุคลากรในโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของเทคโนโลยีในกลุ่มดิจิทัลที่ถูกนำมาปรับใช้ในภาคธุรกิจมากขึ้น กระแส Green economy ที่จะนำมาสู่การจ้างงานในกลุ่ม green jobs เช่น ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานทดแทน ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านตำแหน่งทั่วโลกภายในปี 2050 อีกทั้งการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทาง Environment Social and Governance จะทำให้ภาคธุรกิจต้องพัฒนาคนให้มีความเข้าใจในหลักการ ESG ด้วย นอกจากนี้ อายุขัยประชากรที่เพิ่มขึ้นและการเข้าสู่สังคมสูงวัย ยิ่งตอกย้ำให้เราต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เราเริ่มเห็นองค์กรธุรกิจชั้นนำในประเทศไทยเพิ่มเม็ดเงินการลงทุนพัฒนาบุคลากรมากขึ้น ซึ่งได้นำไปสู่การยกระดับผลการดำเนินงานของภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมของธุรกิจ ทั้งด้านการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และสร้างนวัตกรรมให้องค์กร”
นายกิตติศักดิ์ กวีกิจมณี นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า แม้จะมีโอกาสที่มากขึ้น แต่ธุรกิจ Corporate training เองจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการพัฒนาทักษะที่แตกต่างกันของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น โดยคำนึงถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปในยุค New Normal เร่งแสวงหาความร่วมมือจาก partner ภายนอก และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ Virtual Reality หรือ Augmented Reality เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“เราเริ่มเห็นธุรกิจ Corporate training ใช้วิธีการที่หลากหลายและทันสมัยในการส่งมอบบริการฝึกอบรม เช่น การจัด Bootcamp สำหรับสร้างโปรแกรมเมอร์ การจำลองสถานการณ์ หรือ simulation เพื่อฝึกฝนพนักงานขายให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ โดยผู้ให้บริการฝึกอบรมควรให้ความสำคัญกับความรู้และทักษะแห่งโลกอนาคตที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ไม่เพียงแต่เฉพาะความรู้เชิงเทคนิคที่เกี่ยวกับงาน แต่รวมถึง soft skill ที่จำเป็นต่อการทำงานแห่งโลกยุคใหม่ด้วย เช่น creativity and innovation, leadership, collaboration เป็นต้น ทั้งนี้ ความร่วมมือกับ partner กลุ่มต่างๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาหรือด้านเทคโนโลยีจะยิ่งช่วยเพิ่มความสามารถให้ Corporate training ในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้บุคลากรในภาคธุรกิจมีความพร้อมรับมือกับงานแห่งโลกอนาคต ช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปให้เข้มแข็ง และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย”
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket